วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-กรีซ
ด้านการทูต
ไทยและกรีซได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ในช่วงแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ดูแลประเทศกรีซในฐานะประเทศในเขตอาณา ต่อมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1985 มีหน้าที่ดูแลสาธารณรัฐมอลตาในฐานะประเทศในเขตอาณา และติดตามสถานการณ์ในเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (อดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย) รวมทั้งดูแลความสัมพันธ์ไทย-มาซิโดเนีย อย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ มีสำนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำกรุงเอเธนส์ด้วย ในขณะที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสำนักงานแรงงาน ณ กรุงเอเธนส์ได้ปิดลงก่อนหน้านี้ ส่วนกรีซได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1989โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา และเปิดสำนักงานพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ปัจจุบัน นายพฤทธิพงศ์ กุลทนันทน์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรีซ ส่วนเอกอัครราชทูตกรีซประจำประเทศไทยได้แก่นายนิโคลาออส วามวูนาคิส (H.E. Mr. Nikolaos Vamvounakis)
ด้านการเมือง
ในภาพรวม ไทยและกรีซดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีด้วยความราบรื่นและไม่มีปัญหาต่อกัน และมีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ เช่น การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) และอาเซียน-อียู (ASEAN-EU) ไทยและกรีซต่างเริ่มให้ความสำคัญต่อกันและกันมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงบทบาทนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบอาเซียน และของกรีซในภูมิภาคบอลข่าน นอกจากนี้ ความสำเร็จในการจัดประชุม APEC 2003 ของไทย และการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ.2004 ของกรีซ ส่งผลทางจิตวิทยาต่อการยอมรับของภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยและกรีซสามารถเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินการต่างๆ อาทิ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาคการเมือง ภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชนของทั้งสองประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ
- การค้าและการลงทุน
การค้ารวมระหว่างไทย-กรีซมีมูลค่าเฉลี่ย 272 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขฝ่ายไทยโดยเป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น โดยไทยส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าประกอบด้วยผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผลไม้ และยา รักษาโรค เป็นต้น สำหรับการลงทุนระหว่างกัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบัน
ในภาพรวม การนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับกรีซดำเนินไปด้วยดี โดยมักผ่านทางผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งบางครั้งพบอุปสรรคในการตรวจพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก และมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน เช่น ไม่ชำระเงิน จัดส่งสินค้าไม่ครบ/ล่าช้า/ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกรีซสามารถขยายตัวได้อีกมาก หากนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความสนใจตลาด และศึกษาโอกาส ลู่ทาง และศักยภาพของกันและกันมากกว่าที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับโลก ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในตลาดกรีซ อาทิ 1) รถบรรทุกเล็ก 2) รถจักรยานยนต์/อุปกรณ์ 3) เครื่องปรับอากาศ/เครื่องทำความเย็น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มร้อนขึ้นในกรีซ 4) เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะที่ออกแบบสวยงาม/คุณภาพดี เพื่อสร้างความแตกต่างจากเสื้อผ้านำเข้าราคาถูก 5) เครื่องประดับ อัญมณี 6) สินค้าอาหาร/อาหารกระป๋อง (ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ฯลฯ) และ 7) กลุ่มสินค้าที่เน้นการออกแบบในระดับราคาต่างๆ(เฟอร์นิเจอร์บ้าน/สำนักงาน อุปกรณ์/ของประดับบ้าน ฯลฯ) เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุน และประกอบธุรกิจร่วมระหว่างไทย-กรีซ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากกรีซมีนักธุรกิจร่ำรวยจำนวนมาก ซึ่งนิยมนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ กอปรกับได้ชื่อว่า มีชั้นเชิงทางธุรกิจสูง และมีทักษะเรื่องการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศเพื่อนบ้านของกรีซ ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสามารถหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสมได้ ก็จะช่วยกระจายสินค้าไทยไปสู่ตลาดบอลข่าน ซึ่งไทยยังไม่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี
- การท่องเที่ยว
ชาวกรีกนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดมีจำนวนประมาณ 18,000 คน/ปี เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลายและสวยงาม ราคาไม่สูง คนไทยเป็นมิตร ประทับใจใน การให้บริการ และการบินไทยมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และเอเธนส์ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเยือนกรีซไม่มากนัก เฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 คน/ปี
- แรงงาน
คนไทยอาศัยในกรีซประมาณ 200 คน ประมาณร้อยละ 50 เป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวกรีก นอกจากนั้น เดินทางเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยงานบ้าน พ่อครัวปรุงอาหาร ผู้ช่วยพ่อครัว คนงานเรือ ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานโดยติดต่อกับนายจ้างโดยตรง หรือจากการแนะนำจากญาติ คนรู้จัก เพื่อน ฯลฯ ทั้งนี้ สาเหตุที่จำนวนแรงงานไทยในกรีซมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากชาวกรีกทั่วไปมีรายได้ต่ำกว่าประเทศใหญ่ในทวีปยุโรป ประเทศมีประชากรน้อยประมาณ 11 ล้านคน จึงไม่สามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้มาก กอปรกับมีขั้นตอน และวิธีปฏิบัติในการออกใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติที่รัดกุม ใช้เวลายาวนานนับปี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลางและแอฟริกา
ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
- ความตกลงที่ลงนามแล้ว
1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งอาณาจักรกรีซว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป ลงนามเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2515
2. ความตกลงด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับกรีซ ลงนามเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก ลงนามเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2549
- ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
1. ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน
2. อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน
3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิชาการ
4. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินเรือพาณิชย์
5. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ
การเยือนของผู้นำระดับสูง
- ฝ่ายไทย อาทิ
ราชวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรีซเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2507 เพื่อร่วมในพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระราชาธิบดีคอนสแตนตินแห่งกรีซกับเจ้าหญิงอานน์มารีแห่งเดนมาร์ก ที่กรุงเอเธนส์
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม – 14 เมษายน 2536
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 – 30 พฤษภาคม 2536
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 – 15 ตุลาคม 2536
รัฐบาล
- พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2530
- นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2541
- ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2541
- ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดโดย ASIA FORUM 2000 ณ เมืองเทสซาโลนิกิ ประเทศกรีซ และได้พบปะหารือข้อราชการทวิภาคีกับนาย Grigoris Niotis รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543
- นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก2004 เมื่อวันที่ 12 – 14 สิงหาคม 2547
- นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางเยือนกรีซ 2 ครั้ง ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก เมื่อวันที่ 26 – 31 สิงหาคม 2547 และวันที่ 16 – 20 กันยายน2547
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซ เมื่อวันที่ 3 - 5 กรกฎาคม 2548
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซ เมื่อวันที่ 4 - 5 กันยายน 2549
- นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เดินทางเยือนกรีซ เมื่อวันที่ 4 - 7 กันยายน 2549
- ฝ่ายกรีซ อาทิ
- นาย Andreas Papandreou นายกรัฐมนตรีกรีซ เดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ
เมื่อวันที่ 5 – 7 เมษายน 2529
- นาง Virginia Tsouderou รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2536
- นาย Akis Tsochatzopoulos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกรีซ เป็นผู้แทนนายก
รัฐมนตรีกรีซเดินทางมาร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2539
- นาย Andreas Papandreou นายกรัฐมนตรีกรีซ เยือนไทย เมื่อวันที่ 5 – 7 เมษายน 2539
- นาย Theodoros Pangalos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 – 11 กุมภาพันธ์ 2540
- นาย Alexandros Philon ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกรีซและภริยา เยือนไทย เมื่อ วันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2540
- นาย Constantinos J. Ivrakis รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 22 – 26 เมษายน 2541
- นาย Grigoris Niotis รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เยือนไทย เมื่อวันที่ 30พฤษภาคม 2544
- นาย Constantinos Simitis นายกรัฐมนตรีกรีซ แวะเยือนไทย (transit) ในการไปเยือน
ประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 และ 8 มีนาคม 2545
- นาย Dimitris Avramopoulos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกรีซ เยือนไทย
เมื่อวันที่ 9 – 11 กรกฎาคม 2547
- นาย Nikos Tsirtsionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการเขต Macedonia and Thrace เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2547 เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้กรีซเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2008
เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 13.00 น. และ 14.00 – 17.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)