การรับรองเอกสารต่างประเทศเพื่อนำไปใช้ที่ไทย

การรับรองเอกสารต่างประเทศเพื่อนำไปใช้ที่ไทย

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ส.ค. 2566

| 14,949 view

- การนำเอกสารต่างประเทศ เช่น จากกรีซ มอลตา หรือเซอร์เบียไปใช้ในประเทศไทย (เช่น การนำทะเบียนสมรสไปบันทึกฐานะแห่งครอบครัว หรือ คร.22 เป็นต้น) จะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ก่อน โดยหากเป็นเอกสารภาษาท้องถิ่น จะต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยนักแปลที่ได้รับการยอมรับจากทางการประเทศนั้น ๆ แล้วจึงนำเอกสารดังกล่าวมารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ 

- การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลที่ว่า เอกสารที่ออกให้โดยประเทศหนึ่งจะต้องได้รับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะถือว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องและสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง

- ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญา the Apostille Hague Convention จึง ม่สามารถรับตราประทับ Apostille Stamp สำหรับการรับรองเอกสารได้

เอกสารที่ออกโดยกรีซ

1. นำเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานกรีซ ซึ่งเป็นภาษากรีก ไปผ่านการรับรอง (stamp) จากกระทรวงการต่างประเทศกรีซ
2. นำเอกสารภาษากรีกที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศกรีซแล้ว 
ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษกับนักแปลที่ทางการกรีซเห็นชอบ (certified translator) ซึ่งในเอกสารแปลภาษาอังกฤษจะมี QR Code ของนักแปลที่ทางการกรีซเห็นชอบเป็นหลักฐาน โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://metafraseis.services.gov.gr/
3. ขอให้ส่งเอกสารที่จะให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รับรองมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทางอีเมลก่อนที่ [email protected] หากเอกสารถูกต้องครบถ้วน ท่านสามารถมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โดยท่านรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสารไป-กลับเอง ทั้งนี้ ขอให้เตรียมเอกสาร ดังนี้
3.1 คำร้องขอนิติกรณ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่กรอกครบถ้วน (ดาวน์โหลดได้ตามไฟล์ข้างล่าง)
3.2 เอกสารภาษากรีกที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศกรีซแล้ว พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษที่ผ่านการแปลจาก certified translator พร้อมสำเนา 1 ชุด
3.3 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
3.4 หนังสือเดินทางตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
3.5 ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อการรับรอง 1 ตราประทับ (หากท่านจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ขอให้โอนเงินผ่าน Western Union)

เอกสารที่ออกโดยมอลตา

1. เนื่องจากเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานมอลตาส่วนมากเป็นเอกสารสองภาษา (ภาษามอลตาและภาษาอังกฤษ) ในกรณีนี้ ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่นำไปผ่านการรับรอง (stamp) จากกระทรวงการต่างประเทศมอลตาได้เลย อย่างไรก็ดี หากเอกสารเป็นภาษามอลตาเท่านั้น ผู้ร้องจะต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อน จึงจะนำไปผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศมอลตา (สามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://consularplus.gov.mt/legalisation?lang=en)
2. ขอให้ส่งเอกสารที่จะให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รับรองมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทางอีเมลก่อนที่ [email protected] หากเอกสารถูกต้องครบถ้วน ท่านสามารถมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โดยท่านรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสารไป-กลับเอง ทั้งนี้ ขอให้เตรียมเอกสาร ดังนี้
2.1 คำร้องขอนิติกรณ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่กรอกครบถ้วน (ดาวน์โหลดได้ตามไฟล์ข้างล่าง)
2.2 เอกสารของหน่วยงานมอลตาที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศมอลตาแล้ว พร้อมสำเนา 1 ชุด
2.3 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
2.4 หนังสือเดินทางตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
2.5 ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อการรับรอง 1 ตราประทับ (หากท่านจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ขอให้โอนเงินผ่าน Western Union)

เอกสารที่ออกโดยเซอร์เบีย

1. นำเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานเซอร์เบีย ซึ่งเป็นภาษาเซอร์เบีย ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยนักแปลที่ได้รับการยอมรับจากทางการเซอร์เบีย
2. นำเอกสารภาษาเซอร์เบีย พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ ไปผ่านการรับรองตามแนวปฏิบัติของเซอร์เบีย โดยจะต้องรับรองผ่านหน่วยงานต่อไปนี้ตามลำดับ ได้แก่ (1) ศาลชั้นต้น (สามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของทางการเซอร์เบียที่ https://www.prvi.os.sud.rs/) (2) กระทรวงยุติธรรมเซอร์เบีย และ (3) กระทรวงการต่างประเทศเซอร์เบีย  
3. ขอให้ส่งเอกสารที่จะให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รับรองมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทางอีเมลก่อนที่ [email protected] หากเอกสารถูกต้องครบถ้วน ท่านสามารถมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โดยท่านรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสารไป-กลับเอง ทั้งนี้ ขอให้เตรียมเอกสาร ดังนี้
3.1 คำร้องขอนิติกรณ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่กรอกครบถ้วน (ดาวน์โหลดได้ตามไฟล์ข้างล่าง)
3.2 เอกสารภาษาเซอร์เบีย พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ ที่ผ่านการรับรองตามแนวปฏิบัติของเซอร์เบียแล้ว พร้อมสำเนา 1 ชุด
3.3 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
3.4 หนังสือเดินทางตัวจริงของผู้ร้อง (หรือสำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด กรณีจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์)
3.5 ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร ต่อการรับรอง 1 ตราประทับ (หากท่านจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ขอให้โอนเงินผ่าน Western Union)

หมายเหตุ: สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบต่อความเสียหาย/การสูญหายที่อาจเกิดขึ้นต่อเอกสารที่ส่งทางไปรษณีย์

การนำเอกสารต่างประเทศไปใช้ที่ประเทศไทย

ขอให้ท่านนำเอกสารต้นฉบับจากต่างประเทศ พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ ที่ผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว ไปแปลเป็นภาษาไทย และนำเอกสารทั้งหมดไปผ่านการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (เลขที่ 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-9817171-99) หรือสถานที่ให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT คลองเตย และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี สงขลา ภูเก็ต หรือสาขาปทุมวัน (ดูที่ตั้ง คลิกที่นี่)

เมื่อดำเนินการข้างต้นเสร็จสิ้น ท่านสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือหน่วยงานในไทยได้ต่อไป

เอกสารประกอบ

คำร้องขอนิติกรณ์_TH_EN