การแจ้งขอสัญชาติไทยให้แก่บุตร/ธิดา (ขอสูติบัตร)

การแจ้งขอสัญชาติไทยให้แก่บุตร/ธิดา (ขอสูติบัตร)

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 Sep 2019

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 Nov 2022

| 5,454 view

 

การขอสัญชาติไทยและออกหนังสือเดินทางแก่บุตร

เด็กที่มีบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทยมีสิทธิได้รับสัญชาติไทย

การขอสัญชาติไทยให้กับบุตรที่เกิดในกรีซ/มอลต้า

  • บิดาและมารดาของเด็กจะต้องมาติดต่อที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อแจ้งเกิดตามกฎหมายไทย เมื่อเด็กได้รับสูติบัตรไทยแล้ว จึงจะถือว่าได้ถือสัญชาติไทยแล้ว และสามารถนำสูติบัตรไปใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบสำหรับการยื่นขอหนังสือเดินทางไทยให้กับเด็กต่อไป
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ จะรับแจ้งเกิดเฉพาะแก่เด็กที่เกิดในกรีซ/มอลต้าเท่านั้น

การแจ้งเกิดให้กับบุตร ต้องเตรียมเอกสารดังนี้

  1. สำเนาหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา 1 ชุด
  2. สำเนาบัตรประชาชนของบิดาและมารดา 1 ชุด
  3. สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ชุด
  4. สำเนาใบทะเบียนสมรสของบิดาและมารดา (ของไทยหรือของกรีซ/มอลต้า) 1 ชุด
  5. สูติบัตรกรีซ/มอลต้า ในกรณีที่เป็นภาษาท้องถิ่นจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและประทับตรารับรองคำแปลที่กระทรวงการต่างประเทศกรีซ หรือ มอลต้า
  6. ใบทะเบียนหย่า ในกรณีบิดา-มารดา หย่าขาดจากกัน หรือไม่อยู่ด้วยกัน ต้องมีหนังสือรับรองว่าบุตรอยู่ในความดูแลของใคร

หมายเหตุ
กรณีที่ต้องการแจ้งเกิด ให้แก่เด็ก/บุคคลที่เกิดก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ฯ ก่อนแจ้งเกิด

การขอหนังสือเดินทางให้แก่บุตร ต้องเตรียมเอกสารเช่นเดียวกับการแจ้งเกิดบุตรและค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือเดินทาง 30 ยูโร

การตั้งชื่อให้บุตรและการใช้นามสกุลของบุตร

  • การตั้งชื่อให้เป็นไปตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติชื่อบุคคล ที่ระบุไว้ว่า " ชื่อตัวหรือชื่อรองต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมาย ให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย " และโดยที่ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องชื่อบุคคล ซึ่งถือเสมือนเป็นนโยบายของรัฐที่จะดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดไว้ว่า " การตั้งชื่อควรจะให้รู้ว่า เป็นชายหรือหญิง มีความหมายในภาษาไทย และชื่อหนึ่งไม่เกินสามพยางค์ "
  • การตั้งชื่อสกุล ให้เป็นไปตามมาตรา 1561 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ระบุไว้ว่า "บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้สกุลของมารดา" อย่างไรก็ตาม หากบิดาเป็นผู้แจ้งเกิดต่อทางการท้องถิ่น โดยให้บุตรใช้นามสกุลของตน และมารดานำหลักฐานการเกิดของท้องถิ่นมาแจ้งการเกิดกับนายทะเบียนสถานเอกอัครราชทูตฯ ประสงค์ให้บุตรใช้นามสกุลของบิดา โดยเป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องทำบันทึกแสดงความยินยอมของบิดาไว้เป็นหลักฐานก่อนที่จะสามารถออกใบสูติบัตรได้

หมายเหตุ

  1. เด็กถือสองสัญชาติ โดยทั่วไปเด็กที่เกิดในต่างประเทศจากมารดาสัญชาติไทย โดยมีบิดาเป็นบุคคลต่างด้าว และเด็กถือสัญชาติไทยและต่างประเทศพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์มีความประสงค์จะถือสัญชาติต่างประเทศต่อไป ต้องยื่นคำร้องขอ สละสัญชาติไทยตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ( ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2535 หรือ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535
  2. การขอเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านของไทย ตามระเบียบสำนักงานกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

กำหนดให้ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาเพื่อทำการเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน ดังนี้

  • คำร้อง
  • สูติบัตรของบุตร
  • หนังสือเดินทางบุตร

หมายเหตุ
หนังสือเดินทางที่จะใช้เป็นเอกสารประกอบการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านนั้น จะต้องใช้หนังสือเดินทางฉบับนั้นเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีตราประทับเดินทางเข้าประเทศไทยในหนังสือเดินทางของเด็กผู้ขอเพิ่มชื่อด้วย 
สถานเอกอัครราชทูต ฯ เปิดรับคำร้องแจ้งเกิด ระหว่างเวลา 09.00 น. – 13.00 น. ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการไทยและวันหยุดราชการท้องถิ่น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ หมายเลข 210-671 0155, 210-674 9065 ระหว่างเวลา 09.00 น. – 15.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์ 
e-mail: [email protected] เวปไซด ์ www.thaiembassy.org/athens