การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 95,047 view

 

การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมสามารถกระทำได้ ดังนี้

1. การแสดงความจำนงขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

  • ชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ให้ยื่นคำขอต่อส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาหรือหน่วยงานที่รัฐบาลของประเทศนั้นมอบหมาย หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่รัฐบาลของประเทศนั้นอนุญาตให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ
  • ชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมีหลักฐานหนังสือสำคัญประจำตัวต่างด้าว ให้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์ กรุงเทพมหานคร โทร 02- 2468651 โทรสาร 02-2479480
  • ชาวต่างประเทศที่มีถิ่นที่อยู่ชั่วคราวในประเทศไทยและมีหนังสืออนุญาต การทำงานจากกรมแรงงานมาแสดง และอาศัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนวันยื่นคำขอ และมีระยะเวลาสำหรับการทดลองเลี้ยงดูเด็กในประเทศได้ครบกำหนด ให้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยเอกสารต่าง ๆ จะต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุล ประจำประเทศไทยของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นด้วย

2. คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ขอรับเด็ก

  • ผู้ขอรับเด็กจะต้องมีอายุเกินกว่า 25 ปี และต้องมากกว่าเด็กอย่างน้อย 15 ปี
  • จะต้องมีคู่สมรส เว้นแต่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
  • จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศ ที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่ และจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย

3. การจัดส่งเอกสาร

ก. ฝ่ายผู้ขอรับเด็ก 
ผู้ขอรับเด็กต้องติดต่อส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือหน่วยงานที่รัฐบาลประเทศนั้นมอบหมาย หรือองค์การเอกชนที่รัฐบาลของประเทศนั้นอนุญาตให้ดำเนินการเรื่องบุตรบุญธรรม เพื่อจัดหาเอกสารต่างๆ ดังนี้

  • รายงานการศึกษา ภาพครอบครัวของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
  • หนังสือรับรองความเหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
  • หนังสือรับรองว่าจะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมประชาสงเคราะห์ไม่เกินสองเดือนต่อครั้งเป็นระยะเวลาหกเดือน
  • แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม (Application Form)
  • เอกสารรับรองสุขภาพของผู้ขอรับเด็กจากแพทย์
  • เอกสารรับรองการสมรส
  • ทะเบียนหย่า (กรณีได้เคยสมรสมาก่อน)
  • เอกสารรับรองอาชีพและรายได้
  • เอกสารรับรองการเงิน
  • เอกสารรับรองทรัพย์สิน
  • เอกสารรับรองจากผู้อ้างอิง 2 คน
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. คนละ 4 รูป
  • เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศนั้นรับรองการอนุญาตให้เด็กเข้าประเทศได้
  • กรณีติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชนจะต้องมีสำเนาในอนุญาตขององค์กร และหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์กรนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้

เอกสารทุกฉบับดังกล่าวข้างต้นจะต้องได้รับการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่ผู้ขอรับเด็กอยู่หรือจัดส่งผ่านช่องทางทางการทูต

ข. ฝ่ายที่จะยกเด็กให้

  • บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
  • ทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส
  • ทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาล
  • หนังสือรับรองจากสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอตามแบบ ปค.14 รับรองว่าบิดามารดาเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรและได้เลิกร้างกันไปเป็นเวลานานกี่ปีด้วย
  • หนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
  • บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค.14
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. ของบิดามารดาเด็กคนละ 1 รูป
  • เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามีหรือจำเป็นต้องขอเพิ่ม)

ค. ฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  • สูติบัตรเด็ก
  • ทะเบียนบ้านเด็ก
  • รูปถ่ายเด็กขนาด 4.5 X 6 ซ.ม. 1 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6)
  • เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามีหรือจำเป็นขอเพิ่ม)

4. ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง

  • เมื่อเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ได้ครบสมบูรณ์แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ (นักสังคมสงเคราะห์) จะพิจารณาว่าผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจน สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะประมวลรายละเอียดต่างๆ เสนอให้อธิบดีพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการ ฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่ไปในคราวเดียวกันด้วยเลย
  • กรณีที่ขอรับเด็กกำพร้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เมื่อคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้วคณะกรรมการการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรมจะพิจารณาคัดเลือกเด็กกำพร้าของกรม ฯ ให้แก่ผู้ขอรับตามบัญชีก่อนหลัง
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะแจ้งประวัติเด็กพร้อมรูปถ่ายให้ผู้ขอรับพิจารณาผ่านหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องนี้มา
  • เมื่อผู้ขอรับแจ้งตอบรับเด็กให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเสนอให้คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอรับเด็กรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดู โดยขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อทดลองเลี้ยงดู
  • เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์อนุญาต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็กมารับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในต่างประเทศจะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาครบ 3 ครั้ง ซึ่งหากปรากฏว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอยู่อาศัยกับครอบครัวผู้ขอรับอย่างมีความสุข พนักงานเจ้าหน้าที่จะสรุปรายงานเสนอคณะกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้
  • ผู้ขอรับจะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่สถาน เอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศผ่านกระทรวงความมั่นคงและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยทราบ พร้อมกันนี้ก็แจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้กับผู้ขอรับเด็กได้ทราบพร้อมกันนั้นด้วยกรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย การจดทะเบียนสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย
  • กระทรวงการต่างประเทศ จะส่งสำเนาภาพถ่ายเอกสารทะเบียนการรับบุตร บุญธรรม (คร.14) จำนวน 1 ชุด มาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ขอรับเด็ก (แต่ละราย) ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ และสำหรับผู้ขอรับเด็กที่อยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะขอสำเนาภาพถ่ายเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (ดร.14) จำนวน 1 ชุด จากผู้ขอรับเด็กไว้เป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ขอรับเด็ก (แต่ละราย) ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเช่นกันนั้นด้วย

5. องค์การสวัสดิภาพเด็ก

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “ห้าม มิให้บุคคลใดนอกจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการส่วนราชการที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมาย หรือองค์การ สวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” และมาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า “องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ประสงค์จะดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากอธิบดี…..”
ปัจจุบันองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมี 4 องค์การด้วยกัน คือ

  • สหทัยมูลนิธิ
  • มูลนิธิมิตรมวลเด็ก
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย

หมายเหตุ
1. การขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมของคนกรีกหรือมอลต้าควรจะได้กระทำผ่านหน่วยงานของกรีซหรือมอลต้าที่เกี่ยวกับเยาวชน ในเมืองที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ก่อนเพื่อประโยชน์ในการขอตรวจลงตราเข้ากรีซหรือมอลต้าของเด็ก และควรจะติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการของไทยไปพร้อมกันด้วย 

2. เมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อย และประสงค์ จะให้เด็กมาใช้นามสกุลของบิดาบุญธรรม ก็สามารถกระทำได้ โดยนำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ไปยื่นแก่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์เพื่อยื่นขอแก้ไขนามสกุลในเล่มหนังสือเดินทาง และเมื่อเดินทางกลับไทย ก็ให้นำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไปยื่นที่อำเภอภูมิลำเนาเพื่อยื่นแก้ไขนามสกุลในทะเบียนบ้านต่อไป